top of page
รูปภาพนักเขียนทีมงานมูลนิธิปวีณาฯ

แม่ชาวนราธิวาส ร้อง “ปวีณา” ลูกเสียชีวิตขณะทำคลอดที่ รพ. เร่งประสาน สธ.ให้การเยียวยา

จ.นราธิวาส 6 ต.ค.66 แม่ใจสลาย ร้อง “ปวีณา” ลูกเสียชีวิตขณะทำคลอดที่โรงพยาบาล หลังรับเรื่องประสาน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ให้การเยียวยา พร้อมฝาก สธ. กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนควรมีแพทย์ด้านสูตินรีเวชดูแล



จ.นราธิวาส วันที่ 6 ต.ค.66 แม่ใจสลายเดินทางจาก จ.นราธิวาส ร้อง “ปวีณา” ลูกเสียชีวิตขณะทำคลอดที่โรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส โดยมีพยาบาลทำคลอด 2 ราย แต่เด็กตัวใหญ่ทำให้หัวไหล่ติดอยู่คาช่องคลอดออกมาไม่ได้ พยาบาลจึงรีบไปตามแพทย์มาช่วยนำเด็กออกมาได้ แต่สุดยื้อชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ “ปวีณา” ประสาน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ 4.5 แสนบาท “ปวีณา” ฝากกระทรวงสาธารณสุขกรณีคลอดลูกเสียชีวิตที่ร้องทุกข์มายังมูลนิธิปวีณาฯ ลูกเสียชีวิตหลายรายจากหลายจังหวัด ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินควรจะมีแพทย์ด้านสูตินรีเวชประจำโรงพยาบาลมาวินิจฉัยและตัดสินใจในการรักษาผ่าตัดหรือส่งตัวไปรักษาต่อรพ.ให้ทันเวลาก่อนเด็กเสียชีวิต


น.ส.แซน กล่าวว่า ได้ร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ ตนท้องลูกคนที่ 3 มีกำหนดคลอดวันที่ 26 ส.ค.66 จากการอัลตร้าซาวด์แพทย์บอกเป็นเด็กผู้ชายตัวใหญ่ แข็งแรงดี ต่อมาวันที่ 11 ส.ค.66 แม่ได้ไปพบแพทย์ตามนัดก่อนคลอด ตรวจพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงและเป็นเบาหวาน แพทย์จึงให้นอนแอดมิทเพื่อดูอาการเพราะความเสี่ยงต่อแม่และลูกในครรภ์ จนวันที่ 14 ส.ค.66 พยาบาลได้ให้ยากระตุ้นคลอด 3 ครั้ง จากนั้นเวลา 22:00 น. ตนเริ่มปวดท้องพยาบาลมาดูพบว่ามดลูกเปิด 2 ซม. กระทั่งเที่ยงคืนเข้าวันที่ 15 ส.ค.66 แม่ปวดท้องหนักขึ้นพยาบาลมาดูอีกครั้งพบมดลูกเปิด 7 ซม. จึงได้พาเข้าห้องคลอดภายในห้องคลอดมีพยาบาลอยู่ 2 คน โดยไม่มีแพทย์มาทำคลอด พยาบาลทำคลอดกันเอง แต่เนื่องจากเด็กตัวใหญ่ทำให้หัวไหล่ติดออกไม่ได้ พยาบาลจึงไปตามแพทย์เวรมาดูและมีการกรีดช่องคลอดนำเด็กออกมา เด็กมีน้ำหนักถึง 4,230 กรัม และมีชีพจรอ่อน แพทย์จึงได้ให้ออกซิเจนและทำการปั๊มหัวใจอยู่ประมาณ 40 นาที



แพทย์แจ้งว่าจะส่งตัวเด็กไปรักษาต่อที่โรงพยาประจำจังหวัด และได้ปั๊มหัวใจต่ออีก 5 นาที ลูกได้เสียชีวิตลงในเวลา 03:20 น. จากนั้นโรงพยาบาลอำเภอได้ส่งตัวแม่ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดเนื่องจากอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ โดยแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของลูก จากภาวะขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงในทารกแรกเกิด


น.ส.แซน (นามสมมุติ) กล่าวขอบคุณ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ที่ช่วยประสาน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส จนได้รับการอนุมัติเงินเยียวกรณีคลอดลูกเสียชีวิต 4.5 แสนบาท เป็นส่วนของแม่ 9 หมื่นบาท และส่วนของลูก 3.6 แสนบาท ตอนนี้ตนและครอบครัวก็ยังทำใจไม่ได้ ฝากเป็นอุทาหรณ์ ขอให้ครั้งนี้เป็นรายสุดท้ายที่ต้องสูญเสียลูกไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก และขอให้โรงพยาบาลปรับปรุงให้ดูแลคนไข้อย่างรวดเร็ว ให้มีหมอสูตินารีเวชมาทำคลอด ไม่ใช่มีเฉพาะพยาบาล เมื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ไม่สามารถตัดสินใจเองได้


นางปวีณา กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องทุกข์ ได้ประสาน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดนราธิวาส ทันทีและได้รับอนุมัติเงินเยียวยากรณีคลอดลูกเสียชีวิต 4.5 แสนบาท เป็นส่วนของแม่ 9 หมื่นบาท และส่วนของลูก 3.6 แสนบาท ขอบคุณ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธราธสุข จังหวัดนราธิวาส ที่ได้ช่วยเหลืออนุมัติเงินเยียวยาเต็มวงเงิน และจะเร่งจ่ายเงินให้เร็วๆ นี้



นางปวีณา ฝากถึงกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับกรณีมารดาตั้งครรภ์ใกล้คลอด แล้วมีภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉิน จำเป็นต้องมีแพทย์สูตินรีเวชประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยในการรักษาให้ทันต่อเหตุการณ์ว่าจะทำการผ่าตัดหรือส่งไปโรงพยาบาลจังหวัดให้ทันเวลา


ที่ผ่านมามูลนิธิปวีณาฯ ได้รับร้องทุกข์กรณีคลอดลูกเสียชีวิต บางรายทั้งแม่และลูกเสียชีวิตหลายราย หลายจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นกรณีครรภ์เป็นพิษ เด็กไม่กลับหัว เด็กตัวใหญ่ เช่น รายนี้นางพยาบาลได้ฉีดยาเร่งคลอดก่อนแพทย์จะมาถึง โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าจะคลอดลูกตามธรรมชาติได้หรือไม่ เนื่องจากเด็กตัวใหญ่มาก น้ำหนัก 4.230 กรัม เมื่อเด็กคลอดไม่ได้ ติดหัวไหล่ จึงได้ตามแพทย์เวรมา เด็กออกมาชีพจรอ่อน ออกซิเจนต่ำ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา หากแพทย์ตัดสินใจส่งโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อทำการผ่าตัด เด็กก็จะไม่เสียชีวิต จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลไม่ได้เตรียมการให้แพทย์มาตรวจดูอาการวินิจฉัย ตัดสินใจให้ทันต่อเหตุการณ์




ดู 34 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page